|
|
:: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
:: ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2545)
:: เรื่อง มาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ข้อที่ 1-10
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดการส่งต่อผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานและเพื่อประโยชน์
ในการคุ้มครองผู้ป่วยให้พ้นอันตรายและมีความปลอดภัย
อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา
6 และ มาตรา
15 แห่งพระราชบัญญัติ
สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่ง มาตรา 29
ประกอบกับ มาตรา 50
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาลออกประกาศไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ
1 ในประกาศนี้
สถานพยาบาล หมายความว่า
สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
การส่งต่อผู้ป่วย หมายความว่า
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสถานที่หนึ่งเพื่อไปรับ การรักษาต่อยังอีกสถานที่หนึ่งโดยสถานพยาบาลเป็นผู้นำส่ง
ยานพาหนะ หมายความว่า
ยานพาหนะของสถานพยาบาลหรือที่สถานพยาบาลว่าจ้างหรือ จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่งผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยทางบก
ทางน้ำ หรือทางอากาศ
ข้อ
2 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะและ
วิธีการที่เหมาะสมปลอดภัยโดยคำนึงถึงโรค อาการ และความรุนแรงของโรค
ข้อ
3 การส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลหนึ่งไปยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ต้องมีการ
สื่อสารประสานงานแจ้งสถานพยาบาลที่จะรับไว้ล่วงหน้าพร้อมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
ตลอดจนข้อมูลทางการแพทย์ที่จำเป็น
ข้อ
4 การส่งต่อผู้ป่วยที่ยังมีภาวะอาการของโรคที่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ
จากสถานพยาบาลต้องกระทำโดยสถานพยาบาล
ข้อ
5 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพหรือบุคลากร
ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมกับโรคและความรุนแรงของโรคไปพร้อมกับผู้ป่วย
เพื่อให้ผู้ป่วย มีความปลอดภัยในระหว่างการส่งต่อ
ข้อ
6 ยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตาม ข้อ 4
ต้องมีลักษณะดังนี้
6.1 มีเปลนั่งและนอนสำหรับใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
6.2 มีอุปกรณ์ช่วยชีพที่จำเป็น
เช่น ชุดใส่ท่อหายใจ, ชุดให้สารละลายทางโลหิต, ชุดช่วยหายใจ, เครื่องดูดเสมหะ,
ชุดให้ออกซิเจน, เครื่องวัดความดันโลหิตและหูฟัง, เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น
เป็นต้น
6.3 มีอุปกรณ์สื่อสารกับสถานพยาบาลระหว่างการเดินทาง
6.4 มีขนาดพื้นที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรที่จะกระทำหัตถการได้โดยสะดวกพอควร
6.5 ยานพาหนะจะต้องมีลักษณะและได้รับอนุญาตตามประกาศและข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
6.6 ยานพาหนะต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและมีความสะดวกสบายต่อผู้ป่วยในการเดินทาง
ไม่ทำให้โรคหรืออาการรุนแรงมากขึ้น
6.7 ยานพาหนะได้รับการบำรุงรักษาเหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างปลอดภัย
และ มีการควบคุมการติดเชื้อ
ข้อ
7 ในการรับผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพอันตราย
อยู่ในภาวะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีอาการเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ
ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยโดยทันที
และต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว จะปฏิเสธการรับผู้ป่วยมิได้
ข้อ
8 ผู้ป่วยหรือญาติมีสิทธิเลือกสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ต้องการให้สถานพยาบาล
นำส่งรวมทั้งวิธีการนำส่ง เว้นแต่เป็นการเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาลที่นำส่งหรือการนำส่งของ
สถานพยาบาลนั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ให้สถานพยาบาลผู้ส่งสามารถเลือกสถานที่อื่นรวมทั้งวิธีการ
นำส่งที่เหมาะสมได้
ข้อ
9 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องจัดให้มีการให้ข้อมูล แก่ผู่ป่วยหรือญาติเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการส่งต่อ
ข้อ
10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
:: ประกาศ ณ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2545
:: (ลงชื่อ) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
:: (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 119 ตอนพิเศษ 86
ง วันที่ 13 กันยายน 2545)
|
|
|