|
ข้อ 7
ให้ผู้รับตรวจกำกับดูแลให้หน่วยตรวจสอบภายในปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน
ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขอความร่วมมือ
หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานให้ชี้แจงเหตุผลต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ข้อ
8 ให้ผู้รับตรวจกำหนดให้ผู้ตรวจสอบภายในเป็นผู้ตรวจสอบการจัดวางระบบการควบคุมภายใน
ของหน่วยรับตรวจให้สอดคล้องกับมาตรฐานการควบคุมภายในตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด
ข้อ
9 ในกรณีหน่วยรับตรวจ ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้ ให้หน่วยรับตรวจขอทำความตกลงกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ข้อ
10 ในกรณีหน่วยรับตรวจ มีเจตนาหรือละเลยในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
หรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโดยไม่มีเหตุอันสมควร
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจเสนอข้อสังเกตและความเห็นพร้อมทั้งพฤติการณ์ของหน่วยรับตรวจให้กระทรวงเจ้าสังกัด
หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแล แล้วแต่กรณี เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นให้หน่วยรับตรวจไปปฏิบัติ
ในกรณีกระทรวงเจ้าสังกัด
หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแล ไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาอันสมควร
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจรายงานต่อประธานรัฐสภา
เพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
รวมทั้งแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ ร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ข้อ
11 ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินรักษาการตามระเบียบนี้
และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ระเบียบนี้
ในกรณีมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอาจยกเว้น
หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้
:: ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
:: (ลงชื่อ) ปัญญา ตันติยวรงค์ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
แนวทางปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในควรเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
ดังนี้
(1) ผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการ
ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบภายในและจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการที่กำหนด
ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการที่ออกโดยกรมบัญชีกลาง
(2) ผู้ตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ
กระทรวงกลาโหม หน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น และของหน่วยรับตรวจอื่น ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบภายในที่ออกโดยหน่วยงานเจ้าสังกัด
หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลในระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า
กรณีระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบภายในตาม
(1) และ (2) มิได้กำหนดให้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการตรวจสอบใด
ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายในที่เผยแพร่โดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย
หรือ Standards for the Professional Practice of Internal Auditing ที่กำหนดโดย
The Institute of Internal Auditors (llA) ฉบับล่าสุด
ขอบเขตของการตรวจสอบภายใน
แนวทางปฏิบัติที่ 1
ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดในการทำให้เกิดความมั่นใจว่า
ฝ่ายบริหารได้จัดให้มีและดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายใน
ตามมาตรฐานการควบคุมภายในที่กำหนดโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ฝ่ายบริหารมีหน้าที่รับผิดชอบจัดให้มี
และดำรงไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายในตามมาตรฐานการควบคุมภายใน
ที่กำหนดโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
รวมทั้งพิจารณาวินิจฉัยข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะตามรายงานการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายใน
เพื่อสั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามความเหมาะสมและทันเวลา
ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยตรวจสอบภายใน
มีประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางปฏิบัติที่ 2
หน่วยตรวจสอบภายในรับผิดชอบในการประเมินการบริหารความเสี่ยง
การควบคุมและการกำกับดูแล เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงาน และช่วยให้หน่วยรับตรวจสามารถประเมินและปรับปรุงประสิทธิผล
ของกระบวนการบริหารความเสี่ยง กระบวนการควบคุมและกระบวนการกำกับดูแล เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่หน่วยรับตรวจกำหนด
ขอบเขตของการตรวจสอบภายในโดยทั่วไปรวมถึง
2.1 การสอบทานและประเมินการบริหารความเสี่ยง
การควบคุม และการกำกับดูแลของหน่วยรับตรวจ ซึ่งครอบคลุมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้เกิด :
(1) ความมั่นใจว่าการดำเนินงาน
หรือการใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างประหยัดมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
(2) ความมั่นใจในความถูกต้องครบถ้วน
และน่าเชื่อถือของข้อมูลการเงินและการดำเนินงาน
(3) การดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจมิให้เกิดการสูญเสีย
การเสียหาย รวมทั้งการเสียหายจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(4) ความมั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามนโยบาย
วิธีปฏิบัติงาน กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
(5) การเสนอแนะการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง
การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง
2.2 การสอบทานและติดตามแผนการปฏิบัติงานและผลการดำเนินงาน
เพื่อช่วยให้หน่วยรับตรวจเกิดผลสัมฤทธิ์ ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
2.3 การให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษกับสภาพแวดล้อม
ของความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแล
แนวทางปฏิบัติที่ 3
หน่วยตรวจสอบภายในควรอยู่ใน
โครงสร้างการแบ่งส่วนงานของหน่วยรับตรวจอย่างเป็นทางการ
และมีสถานภาพสูงพอที่จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยให้ขึ้นตรงต่อผู้รับตรวจหรือมีสายการบังคับบัญชา
ตามที่กระทรวงการคลังหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายกำหนดและผู้รับตรวจจะมอบหมายให้ผู้อื่น
ควบคุมดูแลและปกครองบังคับบัญชาแทนไม่ได้ และจะแต่งตั้งให้หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในไปรักษาการในตำแหน่งอื่น
หรือแต่งตั้งผู้อื่นมารักษาการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในในขณะเดียวกันไม่ได้
และหน่วยรับตรวจควรจัดสรรบุคลากรและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยตรวจสอบภายใน
อย่างเหมาะสมกับปริมาณงาน และความซับซ้อนของกิจกรรมด้านต่างๆ ของหน่วยรับตรวจ
โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยตรวจสอบภายในควรปฏิบัติงานเต็มเวลาและไม่ควรไปช่วยปฏิบัติงานอื่นใด
ที่ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานตรวจสอบภายใน
กรณีหน่วยรับตรวจซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังด้านการตรวจสอบภายใน
หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นและมีประโยชน์คุ้มค่าที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายใน
หน่วยรับตรวจอาจมอบหมายบุคลากรภายในที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ทำหน้าที่ตรวจสอบภายในตามที่เห็นควร
โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงและต้องปฏิบัติงานตรวจสอบภายในเต็มเวลา
การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในที่มีความ
จำเป็นต้องอาศัยบุคคลภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน
หน่วยรับตรวจอาจแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกแล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง
และหน่วยรับตรวจควรกำหนดให้มีการจัดทำขอบเขตโดยละเอียดของงานที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญ
(Terms of Reference) หรือกำหนดคำสั่งแต่งตั้งบุคคลภายนอกในลักษณะที่สอดคล้องกับมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
ไม่ว่าในกรณีใด
การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ
หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
แนวทางปฏิบัติที่ 4
ผู้ตรวจสอบภายในต้องมีความอิสระจากกิจกรรมที่ตรวจสอบ
โดยมีสถานภาพที่สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นอิสระตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ปราศจากอคติและมีความเป็นกลาง
ผู้ตรวจสอบภายในควรอยู่ในสถานะที่สามารถปฏิบัติงาน
โดยปราศจากความมีอคติและการแทรกแซงจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ควรปฏิบัติงานตรวจสอบในหน่วยงานหรือกิจกรรมที่ตนเคยปฏิบัติมาก่อน
อันจะทำให้หรืออาจทำให้เสียความเป็นกลางในการแสดงความเห็น หรืออาจมีการขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม
หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ยกเว้นเป็นงานให้คำแนะนำปรึกษา
หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน
และผู้ตรวจสอบภายในต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปและคณะกรรมการตรวจสอบ
(ถ้ามี) ทันทีที่ทราบหรือสงสัยว่าตนเองขาดหรือสงสัยว่าขาดความเป็นกลางในงานตรวจสอบภายใน
ที่ได้รับมอบหมายอันเนื่องมาจากการขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ
หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้
ผู้รับตรวจไม่ควรกำหนดให้หน่วยตรวจสอบภายในมีอำนาจสั่งการในเชิงการบริหาร
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกลาง
แนวทางปฏิบัติที่ 5
ผู้ตรวจสอบภายในมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ
ในการตรวจสอบและประเมินความเพียงพอ
ของมาตรการควบคุมภายในที่ฝ่ายบริหารกำหนดเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดการทุจริต
ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของหน่วยรับตรวจเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริต
การปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
ตามมาตรฐานวิชาชีพไม่สามารถให้หลักประกันว่าจะค้นพบการทุจริต
ผู้ตรวจสอบภายในไม่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันหรือค้นหาการทุจริต
แต่ควรใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติงานของตนที่จะสามารถบ่งชี้ความเสี่ยงต่อความเสียหายของการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
ดังนี้
5.1 ในการสอบทานระบบการควบคุมภายใน
ผู้ตรวจสอบภายในควรพิจารณาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับจุดอ่อนที่มีสาระสำคัญที่
ตรวจพบจากระบบการควบคุมภายในนั้นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดทุจริตหรือข้อผิดพลาดหรือไม่
5.2 ในการสอบทานกิจกรรมที่ตรวจสอบ
ผู้ตรวจสอบภายในควรตื่นตัวและตระหนักถึงโอกาสที่อาจเกิดการทุจริต
ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ฝ่ายบริหารเพื่อป้องกันการทุจริต
5.3 ผู้ตรวจสอบภายในสามารถเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานการตรวจสอบทุจริต
ซึ่งอาจหมายรวมถึงการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดแล้ว หรือการทุจริตที่ยังเป็นที่สงสัยอยู่
การป้องกันและค้นหาการทุจริตเป็นงานที่หน่วยตรวจสอบภายในช่วยฝ่ายบริหาร
เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์โดยไม่มีการทุจริตเป็นอุปสรรค
ดังนั้นการวางแผนอย่างระมัดระวังรอบคอบตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญ
ของกิจกรรมที่จะตรวจสอบจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ตรวจสอบภายในหน่วยตรวจสอบภายใน
จำเป็นต้องประสานงานกับฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด
และฝ่ายบริหารต้องเห็นความสำคัญโดยสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการทำการตรวจสอบนั้น
ทั้งนี้
ฝ่ายบริหารควรดำเนินการให้หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตโดยไม่ชักช้า
เพื่อให้หน่วยตรวจสอบภายในประเมินการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่
และ/หรือ เพื่อวางแผนการตรวจสอบให้สามารถพบหรือลดโอกาสการทุจริต
และเพื่อให้คำแนะนำฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการตรวจสอบในรายละเอียดและการปรับปรุงการควบคุมภายใน
แนวทางปฏิบัติที่ 6
หน่วยรับตรวจที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนสำคัญ
ในการปฏิบัติงานหรือบริหารงาน
ควรจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายในซึ่งมีความรู้ ความสามารถอย่างเพียงพอที่จะตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อให้สามารถประเมินและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยง
การควบคุม และการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์
การปฏิบัติหน้าที่การตรวจสอบภายใน
แนวทางปฏิบัติที่ 7
ผู้ตรวจสอบภายในควรประพฤติปฏิบัติตน
ตามหลักปฏิบัติที่กำหนดในจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน
เกี่ยวกับความมีจุดยืนที่มั่นคง ความเที่ยงธรรม การรักษาความลับ และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่
เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจในความเที่ยงธรรม และการให้คำแนะนำปรึกษาที่มีคุณภาพ
แนวทางปฏิบัติที่ 8
หน่วยรับตรวจควรจัดให้มีเอกสารที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของงานตรวจสอบภายใน
เพื่อบุคลากรทุกระดับของหน่วยรับตรวจมีความเข้าใจอันดีต่อการจัดให้มีหน่วยตรวจสอบภายใน
รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของหน่วยตรวจสอบภายใน
หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในควรจัดทำ
และเสนอเอกสารข้างต้นของหน่วยตรวจสอบภายในต่อผู้รับตรวจเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ด้วยความเห็นชอบของผู้กำกับดูแล หรือคณะกรรมการตรวจสอบ (ถ้ามี)
ทั้งนี้ควรมีการสื่อสารเอกสารดังกล่าวให้บุคลากรทุกระดับของหน่วยรับตรวจทราบทั่วกัน
โดยเอกสารนั้นควรมีสาระสำคัญอย่างน้อย ดังนี้
(1) วัตถุประสงค์ และขอบเขตของการตรวจสอบภายใน
และ
(2) สายการบังคับบัญชา
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยตรวจสอบภายในเอกสารดังกล่าว
ควรระบุถึงการให้อำนาจหน้าที่หน่วยตรวจสอบภายในเกี่ยวกับ
1) การเข้าถึงและติดต่อสื่อสารโดยตรงกับบุคลากรของหน่วยรับตรวจ
2) การเข้าถึงข้อมูลและแฟ้มข้อมูลต่างๆ
ของหน่วยรับตรวจ รวมถึงข้อมูลด้านการบริหารและรายงานการประชุมของฝ่ายบริหาร
3) การตรวจสอบกิจกรรมและส่วนงานต่างๆ
ของหน่วยรับตรวจ
4) การปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน
ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้รับตรวจ
แนวทางปฏิบัติที่ 9
กระบวนการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในหมายรวมถึงการจัดทำแผนการตรวจสอบ
การตรวจสอบ การวิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ
การรายงานผลการตรวจสอบและการติดตามผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน
ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยตรวจสอบภายใน
ตามกระบวนการปฏิบัติงานดังกล่าว
โดยทั่วไปครอบคลุมถึงการตรวจสอบและการประเมินผลสำเร็จของทุกกิจกรรมในหน่วยรับตรวจการตรวจสอบภายใน
จึงสามารถกระทำได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ (1) การตรวจสอบด้านการดำเนินงาน (2)
การตรวจสอบด้านการเงิน และ (3) การตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนด
การตรวจสอบภายในจึงไม่ควรเน้นการตรวจสอบประเภทใดประเภทหนึ่ง
โดยเฉพาะแต่ควรเลือกประเภทของการตรวจสอบที่เหมาะสมที่สุด
โดยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การตรวจสอบของหน่วยรับตรวจที่กำหนดไว้ในเอกสารตามที่กล่าวไว้ในแนวทางปฏิบัติที่
8 และความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยรับตรวจที่เป็นผลจากการประเมินการบริหารความเสี่ยง
การควบคุม และการกำกับดูแล
การประเมินการบริหารความเสี่ยง
การควบคุม และการกำกับดูแล อาจกระทำได้ดังนี้
(1) การบริหารความเสี่ยง
กระทำได้โดยการประเมินการระบุความเสี่ยง
การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ
เพื่อให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ
(2) การควบคุม
กระทำได้โดยการประเมินประสิทธิผล
และประสิทธิภาพของการควบคุม และส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการควบคุมอย่างต่อเนื่อง
(3) การกำกับดูแล
กระทำได้โดยการประเมินและปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลให้ดีขึ้น
โดย
- การกำหนดเป้าหมายของการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ
และสื่อสาร ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
- การติดตามผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
- การให้ความมั่นใจว่า บุคลากรของหน่วยรับตรวจมีความรับผิดชอบต่อ
ผลการตัดสินใจ และผลการปฏิบัติหน้าที่ และ
- การรักษาไว้ซึ่งคุณค่า
หรือผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง |
|