|
:: ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
:: ว่าด้วยรถราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2546
ข้อที่ 1-30
อาศัยอำนาจตามความใน
มาตรา 5 และ มาตรา
52 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
พ.ศ. 2542 ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงออกระเบียบไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ว่าด้วยรถราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2546"
ข้อ
2[1] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ
3 ในระเบียบนี้
"สำนักงาน" หมายความว่า
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
"ผู้ว่าการ" หมายความว่า
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
"รถราชการ" หมายความว่า
รถประจำตำแหน่งและรถส่วนกลาง
"รถประจำตำแหน่ง"
หมายความว่า รถยนต์ที่สำนักงานจัดให้แก่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
"รถส่วนกลาง" หมายความว่า
รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่สำนักงานจัดไว้ใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวม
ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ รวมถึงรถที่สำนักงานจัดหาโดยการเช่า
ข้อ
4 ให้ผู้ว่าการเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศหรือคำสั่ง
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
ข้อ
5 ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
ในกรณีมีเหตุสมควร
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอาจยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้
:: หมวด 1 บททั่วไป
ข้อ
6 การจัดหารถราชการของสำนักงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของขนาดเครื่องยนต์และราคาที่สำนักงบประมาณกำหนด
ข้อ
7 ให้สำนักงานจัดทำบัญชีรถราชการแยกประเภทเป็นรถประจำตำแหน่งและรถส่วนกลางตามแบบ
ร. 1 หรือแบบ ร. 2 ท้ายระเบียบนี้ พร้อมทั้งจัดเก็บหลักฐานการได้มาและการจำหน่าย
การเปลี่ยนแปลงประเภทของรถราชการ
ให้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ข้อ
8 สำนักงานมีหน้าที่รับผิดชอบการซ่อมบำรุงรถราชการทุกคันให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
โดยจัดทำรายละเอียดการซ่อมบำรุงสำหรับรถแต่ละคันตามแบบ ร. 3 ท้ายระเบียบนี้
ข้อ
9 รถราชการคันใดได้รับความเสียหายต้องเสียค่าซ่อมแซมหรือค่าซ่อมบำรุงสูงหรือประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มกับค่าซ่อม
หรือเมื่อซ่อมแล้วไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้
โดยปลอดภัยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ว่าการที่จะพิจารณาอนุมัติให้จัดหารถราชการคันใหม่ทดแทนรถราชการคัน
ดังกล่าว
ข้อ
10 การจัดหารถราชการคันใหม่ทดแทนรถราชการคันเก่าต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใด
ดังต่อไปนี้
(1) รถราชการคันเก่าเป็นรถประจำตำแหน่งซึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่าหกปี
หรือเป็นรถส่วนกลางซึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เว้นแต่เป็นรถราชการที่จัดหาจากกรมศุลกากรหรือส่วนราชการอื่น
ให้คิดลดอายุการใช้งานลงหนึ่งปี
(2)
รถราชการคันเก่าเป็นรถราชการที่ผู้ว่าการพิจารณาอนุมัติให้จัดหารถราชการคันใหม่ทดแทนตาม
ข้อ 9
ข้อ
11 กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ที่มิใช่รถราชการเพื่อรับรองชาวต่างประเทศ
ซึ่งเป็นแขกของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการ หรือสำนักงาน ให้ผู้ว่าการพิจารณาเช่ารถยนต์จากเอกชนเป็นคราวๆ
ไป
:: หมวด 2 รถประจำตำแหน่ง
ข้อ
12 บุคคลที่สำนักงานจะจัดรถประจำตำแหน่งให้ ได้แก่ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ โดยให้มีได้ตำแหน่งละหนึ่งคัน
ข้อ
13 รถประจำตำแหน่ง ให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ
หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่ หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติงาน
และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ของตนในทางราชการและสังคม
ข้อ
14 ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าเชื้อเพลิง และในกรณีที่ประสงค์จะให้สำนักงานทำสัญญาประกันภัยรถประจำตำแหน่ง
ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาประกันภัย
การนำรถประจำตำแหน่งไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งนอกเหนือไป
จากหน้าที่ปกติประจำให้เบิกเงินชดเชยค่าเชื้อเพลิงได้กิโลเมตรละ 1.50 บาท
ข้อ
15 การเก็บรักษารถประจำตำแหน่ง ให้อยู่ในความควบคุมและความรับผิดชอบของผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง
ข้อ
16 เมื่อเกิดการสูญหายหรือเสียหายขึ้นกับรถประจำตำแหน่ง ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง
หรือพนักงานขับรถรายงานให้ผู้ว่าการทราบในทันที
เมื่อมีการแจ้งว่ารถประจำตำแหน่งสูญหายหรือเสียหายตามวรรคหนึ่งแล้ว
ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งดำเนินการดังนี้
(1) หากรถประจำตำแหน่งสูญหาย
ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งจัดทำบันทึกรายงานการสูญหายเสนอต่อผู้ว่าการ โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดแสดงถึงยี่ห้อของรถ
หมายเลขทะเบียน วันเวลาสถานที่และการใช้งานในขณะเกิดเหตุ และเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ
พร้อมทั้งแนบสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจมาพร้อมกับบันทึกรายงานการสูญหายด้วย
(2) หากรถประจำตำแหน่งเกิดความเสียหาย
ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งจัดทำรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นเสนอต่อผู้ว่าการ
โดยใช้แบบ ร. 4 ท้ายระเบียบนี้
ข้อ
17 ในกรณีที่รถประจำตำแหน่งคันที่สูญหาย
หรือเสียหายเป็นรถที่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ความรับผิดชอบของผู้ใช้รถประจำตำแหน่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
ดังต่อไปนี้
(1) หากรถประจำตำแหน่งสูญหาย
ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่นอก
เหนือจากที่สำนักงานได้รับตามสัญญาประกันภัยเฉพาะกรณีที่การสูญหายนั้นเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของตน
แต่ถ้าการสูญหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งอนุญาตให้บุคคลใดนำรถประจำตำแหน่งไปใช้นอกเหนือ
จากหน้าที่ปกติประจำ ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแม้ด้วยเหตุสุดวิสัย
(2) หากรถประจำตำแหน่งเกิดความเสียหาย
ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับผู้รับประกันภัยในนามของสำนักงาน
เพื่อซ่อมแซมรถประจำตำแหน่งให้คงสภาพดีตามเดิม ส่วนในกรณีที่ไม่อาจให้ผู้รับประกันภัยดำเนินการซ่อมแซมได้
ให้ผู้นั้นรับผิดชดใช้ในส่วนที่นอกเหนือจากที่สำนักงานได้รับตามสัญญาประกันภัยเฉพาะกรณีที่ความเสียหายนั้นเกิดจากความจงใจ
หรือประมาทเลินเล่อของตนแต่ถ้าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ขับขี่รถประจำตำแหน่ง
ที่มิใช่ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งหรือพนักงานขับรถ หรือมิใช่อยู่ในระหว่างการควบคุมการใช้รถของผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง
ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแม้ด้วยเหตุสุดวิสัย
ข้อ
18 ในกรณีที่รถประจำตำแหน่งคันที่สูญหายหรือเสียหายมิได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ให้นำความใน
ข้อ 17
มาใช้บังคับกับการพิจารณาความรับผิดของผู้ใช้รถประจำตำแหน่งโดยอนุโลม
ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก
ให้ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งเป็นผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นค่าซ่อมแซมจากบุคคลภายนอกในนามของสำนักงาน
ข้อ
19 ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้อง
ใช้รถประจำตำแหน่งคันที่เสียหายซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ให้ผู้ว่าการพิจารณาอนุมัติซ่อมรถคันนั้นโดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณไปก่อนได้
ข้อ
20 ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งต้องคืนรถประจำตำแหน่ง ให้แก่สำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งหรือส่งมอบงาน
แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ใช้รถประจำตำแหน่งถึงแก่ความตาย
ให้ผู้ว่าการเรียกรถประจำตำแหน่งคืนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงแก่ความตาย
เว้นแต่ผู้ว่าการเห็นสมควรให้ผ่อนผันตามควรแก่พฤติการณ์แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันถึงแก่ความตาย
:: หมวด 3 รถส่วนกลาง
ข้อ
21 รถส่วนกลาง ให้ใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงาน
หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ รวมถึงการรับรองแขกต่างประเทศของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้ว่าการ หรือสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ว่าการกำหนด
การขออนุญาตใช้รถส่วนกลางตามวรรคหนึ่งให้ใช้แบบ
ร. 5 ท้ายระเบียบนี้
ข้อ
22 รถส่วนกลางทุกคันให้มีตราเครื่องหมายรูปตราชั่งวางอยู่หน้าพานรัฐธรรมนูญ
และอักษรชื่อ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" หรืออักษรชื่อย่อ "สตง."
โดยมีขนาดที่บุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ชัดเจนไว้ภายนอกรถ
ตราเครื่องหมายและอักษรชื่อหรืออักษรชื่อย่อในวรรคหนึ่งให้ใช้สีที่สามารถมองเห็น
ได้ชัดเจนในกรณีที่มีการจำหน่ายรถส่วนกลางให้สำนักงานลบหรือทำลายตราเครื่องหมายและอักษรชื่อ
หรืออักษรชื่อย่อออกทั้งหมดก่อนที่จะส่งมอบรถส่วนกลางให้กับบุคคลอื่น
กรณีที่สำนักงานมีเหตุผลและความจำเป็นซึ่งเห็นว่า
การมีตราเครื่องหมายและอักษรชื่อ หรืออักษรชื่อย่ออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถ
หรือไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงานให้ขออนุมัติต่อผู้ว่าการเพื่อขอยกเว้นการมีตราเครื่องหมาย
และอักษรชื่อหรืออักษรชื่อย่อได้
ข้อ
23 ให้ผู้ว่าการมีอำนาจพิจารณาทำสัญญาประกันภัยรถส่วนกลางได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ข้อ
24 การนำรถส่วนกลางไปใช้ในลักษณะรถประจำตำแหน่งจะกระทำมิได้
เว้นแต่กรณีที่รถประจำตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใดต้องเข้ารับการซ่อมแซม
หรือซ่อมบำรุงเป็นเวลาเกินกว่าสามวันผู้นั้นอาจขออนุญาตยืมรถส่วนกลางไปใช้ในลักษณะรถประจำตำแหน่งเป็นการชั่วคราวได้
และในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ใช้รถคันดังกล่าวเป็นผู้จ่ายค่าเชื้อเพลิง และให้นำความใน
ข้อ 17 และ ข้อ
18 มาใช้บังคับกับการสูญหายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถคันนั้นในระหว่างนั้นโดยอนุโลม
ข้อ
25 ให้สำนักงานจัดให้มีบันทึกการใช้รถส่วนกลางประจำรถแต่ละคันตามแบบ ร. 6 ท้ายระเบียบนี้
ข้อ
26 การเก็บรักษารถส่วนกลาง ให้เก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ที่สำนักงานกำหนด
เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นผู้ว่าการอาจอนุญาตให้นำรถไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราวหรือเป็นครั้งคราวได้
การนำรถส่วนกลางไปเก็บรักษาที่อื่นตามวรรคหนึ่ง
ผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษารถคันนั้นต้องจัดทำคำขออนุญาต โดยแสดงเหตุจำเป็นและรายละเอียดของสถานที่ที่จะนำรถคันดังกล่าว
ไปเก็บรักษาซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยทุกครั้ง
ข้อ
27 เมื่อเกิดการสูญหายหรือความเสียหายขึ้นกับรถส่วนกลาง ให้พนักงานขับรถ หรือผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษารถตาม
ข้อ 26 แล้วแต่กรณี รายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้ว่าการเพื่อทราบในทันที
และให้นำความใน ข้อ 16 วรรคสอง
มาใช้บังคับกับการจัดทำบันทึกรายงานการสูญหายและรายงานความเสียหายโดยอนุโลม
ให้สำนักงานดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
สำหรับการสูญหายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถส่วนกลาง
ในกรณีที่รถคันนั้นได้ทำสัญญาประกันภัยไว้
ให้พิจารณาเฉพาะส่วนของค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สำนักงานได้รับตามสัญญาประกันภัย
ในกรณีที่การสูญหาย
หรือความเสียหายของรถส่วนกลางเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติราชการ
ของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และลูกจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะรับผิดเฉพาะกรณีที่เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเท่านั้น
แต่ถ้าการสูญหายหรือความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้นั้นนำรถไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้
หรือนำไปเก็บไว้ ณ สถานที่ที่มิได้รับอนุญาต ผู้นั้นต้อรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทุกกรณีแม้ว่าจะเกิดด้วยเหตุสุดวิสัย
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไรการสูญหายหรือความเสียหายก็จะเกิดแก่รถคันนั้นอยู่นั้นเอง
ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนกลางคันที่เสียหาย
ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ให้ผู้ว่าการพิจารณาอนุมัติซ่อมรถคันนั้นโดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณไปก่อนได้
ข้อ
28 ให้นำความในหมวดนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับรถราชการซึ่งได้จัดหามาเพื่อเป็นรถประจำตำแหน่ง
แต่ยังมิได้ส่งมอบแก่ผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง
ข้อ
29 ในแต่ละปีงบประมาณ สำนักงานต้องสำรวจและกำหนดเกณฑ์การใช้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถส่วนกลาง
เพื่อเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าเชื้อเพลิงและการตรวจสอบของผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ
:: บทเฉพาะกาล
ข้อ
30 ผู้ที่ได้รับรถประจำตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ แต่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับรถประจำตำแหน่งตามระเบียบนี้
ให้คงใช้รถประจำตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งเดิม
:: ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2546
:: (ลงชื่อ) ปัญญา ตันติยวรงค์ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
|
|